ช้าพลู

ชื่อสมุนไพร

ช้าพลู

ชื่ออื่นๆ

ผักอีเลิด (อีสาน) นมวา (ภาคใต้) ผักปูนา ผักพลูนก พลูลิง ผักอีไร (เหนือ) เย่เท้ย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), ผักแค

ชื่อวิทยาศาสตร์

Piper sarmentosum Roxb.

ชื่อพ้อง

Piper albispicum C. DC., P. baronii C. DC., P. brevicaule C. DC., P. lolot C. DC., P. pierrei C. DC., P. saigonense

ชื่อวงศ์

Piperaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ย เป็นไม้พันอาศัย หรือเถาทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ปลายยอดตั้งขึ้น ลำต้นสีเขียวกลม มีข้อเป็นปม สูง 30-80 เซนติเมตร มีไหลงอกเป็นต้นใหม่ได้ ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะ ต้นและใบมีรสเผ็ดซ่าเล็กน้อย ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมันลื่น แผ่นใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ตัวใบรูปหัวใจ ตัวใบตามยอดรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ตอนล่างของลำต้น ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบมีขนตามเส้นใบ มีเส้นแขนงใบ 7 เส้น เห็นชัดเจน ใบช่วงล่างใหญ่กว่าใบยอดกิ่ง ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร ดอก เป็นช่อออกตามซอกใบและตามปลายยอด ดอกขนาดเล็กอัดเรียงกันเป็นช่อรูปทรงกระบอก ตั้งตรง ปลายมน คล้ายดอกดีปลีแต่สั้นกว่า ดอกย่อยแยกเพศ ช่อดอกตัวเมียยาว 6-8 มิลลิเมตร ช่อดอกตัวผู้ยาว ก้านช่อดอกยาว 1-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากกลีบดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ผล เป็นผลสดสีเขียวเป็นกลุ่ม ลักษณะกลม ผิวมัน อัดกันแน่นอยู่บนแกน เมล็ดมีขนาดเล็ก ชอบขึ้นตามที่ชื้นบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ หรือที่ร่มรำไร ออกดอกและติดผลราวเดือนมีนาคมถึงกันยายน ใบรับประทานเป็นผัก มีเบตาแคโรทีนสูง หรือใช้ห่อรับประทานกับเมี่ยงคำ

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ใบ

 

 

ดอก และ ผล

 

 

ผลอ่อน และ ใบ

 

 

ผลแก่


สรรพคุณ:
              ตำรายาไทยใช้ ทั้งต้น รสเผ็ดร้อน ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด ใบ รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม ช่วยเจริญอาหาร ทำให้เลือดลมซ่าน ขับเสมหะ แก้เบาหวาน ราก รสร้อน ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ราก ผล และใบ ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการปวดกระเพาะเนื่องจากความเย็นพร่องในธาตุ แก้ธาตุน้ำพิการ แก้ไอเย็น ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ไข้จับสั่น แก้ปวดฟัน ปวดกระดูกเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ฟกช้ำ ใช้ภายนอก รักษาขาเน่าขาเปื่อย ผล รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะที่คอ ทำให้เสมหะแห้ง ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร
             ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีใช้ รากและใบ กินสด ช่วยขับลม

 

องค์ประกอบทางเคมี:

            การแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดใบช้าพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ได้สารประกอบ hydrocinnamic acid (1) และ β- sitosterol (2) โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานที่ทราบโครงสร้างแล้ว (น้อย และก้าน, 2526)

            สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู ประกอบด้วย amides 8  ชนิด ได้แก่  pellitorine (1), guineensine (2), brachystamide B (3), sarmentine (4), brachyamide B (5), 1-piperettyl pyrrolidine (6), 3’,4’,5’-trimethoxycinnamoyl pyrrolidine (7) และ sarmentosine (8)  สาร lignans 2 ชนิด ได้แก่  (+)-asarinin (9) และ  sesamin (10)และองค์ประกอบอื่น 4 ชนิด ได้แก่ 1-(3,4-methylenedioxyphenyl)-1E-tetradecene (11), methyl piperate (12) ส่วนผสมของ β-sitosterol (13) และ stigmasterol (14) (Rukachaisirikul, et al., 2004)


การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ขับลม คลายกล้ามเนื้อ

      จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช้าพลู ต่อลําไส้ส่วนอิเลียมของ หนูตะเภา และกล้ามเนื้อกระบังลมของหนูขาวที่ถูกแยกออกมาจากสัตว์ทดลอง โดยใช้สารที่ได้จากการสกัดช้าพลูด้วยเมทานอล พบว่าสารสกัดช้าพลูมีผลทําให้ความแรงและความถี่ในการหดตัวของลําไส้เพิ่มขึ้น โดยที่การตอบสนองของลําไส้จะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดของสารสกัดที่ใช้ในการทดลอง (0.3, 1.0 และ 3.0 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) และถูกต้านฤทธิ์ได้เพียงเล็กน้อยด้วยอะโทรปีนในขนาด 2.2x10-6  โมลต่อลิตร ส่วนผสมของสารสกัดช้าพลูต่อกล้ามเนื้อกระบังลมจะทําให้เกิดการตอบสนองเป็น 2 ระยะ โดยเริ่มด้วยการกระตุ้นแล้วตามด้วยการกด การหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมในระยะต่อมา พวกโคลิเนอร์จิก และมีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อกระบังลมคล้ายยากลุ่ม depolarized larized blocker ผลการทดลองนี้สนับสนุนข้อมูลการใช้ช้าพลูเป็นยาขับลมและยาคลายกล้ามเนื้อ (เมธี และคณะ, 2531)

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย

     การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum (K1, multidrug resistant strain) ในหลอดทดลอง ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู ผลการทดสอบพบว่าสารกลุ่ม amide ได้แก่  sarmentine , 1-piperettyl pyrrolidine  มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย P. falciparum โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 18.9 และ 6.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (Rukachaisirikul, et al., 2004)

ฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค

      การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค ด้วยวิธี Microplate Alamar Blue Assay (MABA) ผลการทดสอบสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลช้าพลู พบว่าสารกลุ่ม amide ได้แก่  sarmentine, 1-piperettyl pyrrolidine, ยามาตรฐาน isoniazid และ kanamycin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค โดยมีค่า MIC เท่ากับ 100, 50, 0.05 และ 2.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในขณะที่ pellitorine, guineensine, brachyamide B, sarmentosine  และ 1-(3,4-methylenedioxyphenyl)-1E-tetradecene  มีฤทธิ์รักษาวัณโรคอย่างเดียว โดยมีค่า MIC เท่ากับ 25 , 50 , 50 , 200 และ 25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ (Rukachaisirikul, et al., 2004)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:    -


ข้อควรระวัง:
           ใบช้าพลูสด มีผลึกแคลเซียมออกซาเลตสูง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรือไม่ควรกินเป็นประจำ  จะทำให้เวียนศีรษะ และอาจทำให้เกิดนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะได้

 

เอกสารอ้างอิง:

1. น้อย เนียมสา, ก้าน จันทร์พรหมมา. การศึกษาสารเคมีจากชะพลู Piper sarmentosum Roxb. วารสารสงขลานครินทร์. 2526;5(2):151-152.

2. เมธี  สรรพานิช , มาลินี พงษ์มารุทัย, วิบูลย์  ฤทธิทิศ. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชะพลู. วารสารสงขลานครินทร์. 2531;10 (3):305-312.

3. RukachaisirikulT, Siriwattanakit P, Sukcharoenphol K, Wongvein C, Ruttanaweang P, Wongwattanavuch P,et al. Chemical constituents and bioactivity of Piper sarmentosum. J Ethnopharmacology.2004;93:173-176.

 

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง     : www.thaiherbarium.com

ข้อมูลเครื่องยา               : www.thaicrudedrug.com

ข้อมูลตำรับยาเบญจกูล  : www.thai-remedy.com

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม  www.thai-remedy.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting