นางจุ่ม

ชื่อสมุนไพร

นางจุ่ม

ชื่ออื่นๆ

นางชุ่ม มะนาวป่า (เหนือ) ผักหวานดง (ชลบุรี) นมสาว ตาไก่หิน นางจอง เหมือดคน เถาเดือยไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์

Cansjera rheedii J.F. Gmelin

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Opiliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง สูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นและกิ่งอ่อนมีสีเขียว มีขนสั้นนุ่มปกคลุม แตกกิ่งก้านมาก ลำต้น เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ตามลำต้นมีหนามทู่จำนวนมากกระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปรี กว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร ผิวใบมีขนเล็กน้อยโดยเฉพาะที่เส้นใบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียวสั้นๆถึงสอบเรียว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน มีขนประปรายที่เส้นกลางใบและโคน เส้นแขนงใบ เส้นใบแบบขนนกร่างแห 4-10 คู่ ก้านใบสั้นมาก ยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนกระจาย ช่อดอกยาวแบบช่อเชิงลด สีเหลืองอมเขียว ออกเป็นช่อตามซอกใบ 1-4 ช่อ แต่ละช่อยาว 1.3-4 เซนติเมตร และมี 8-16 ดอกต่อช่อ ก้านช่อดอกยาว 1-3 มิลลิเมตร แกนช่อดอกมีขนปกคลุมหนาแน่น ดอกขนาดเล็กติดตามก้านช่อดอก ไม่มีก้านดอก ดอกสมบูรณ์เพศ สมมาตรตามรัศมี ใบประดับ 1 อัน รูปสามเหลี่ยม ยาวไม่เกิน 1 มม. ปลายแหลม มีขนสั้นกระจายทั่วไป เฉพาะขอบมีขนยาว กลีบรวม 4-(5) กลีบ หลอดกลีบรูปโถหรือรูปคนโท กว้าง 2.0-2.5 มม. ยาว 2.5-4.5 มม. ปลายแยกแฉกแหลม ยาว 1 มม. เรียงจรดกัน ขอบเรียบ สีเขียวอมเหลือง ผิวด้านนอกมีขนกระจาย ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงระหว่างแฉกกลีบรวม ยาว 2.5-3.0 มม. อับเรณู 2 พู ขนาดเล็ก แตกตามยาว เกลี้ยง สีขาวอมเหลือง อยู่ระดับปากหลอดกลีบรวม ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ติดที่ฐานและเชื่อมติดบนกลีบรวม เกสรเพศเมียเดี่ยว รูปขวด รังไข่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 1 คาร์เพล 1 ช่อง มีออวุล 1 อัน พลาเซนตาที่ฐาน กว้าง 0.5 มม. ยาว 1.5-2.5 มม. เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง ก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ยาวประมาณ 1 มม. ยอดเกสรเพศเมียแยก 4 แฉก จานฐานดอก 4 อัน แยกกัน รูปสามเหลี่ยม ยาว 1 มม. ขอบเรียบ เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง ผลแบบผลสดเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมรี ขนาดเล็ก กว้าง 7-9 มิลลิเมตร ยาว 10-13 มิลลิเมตร โคนและปลายมน ผิวขรุขระ สีเขียว เมื่อแก่เป็นสีส้มแดง ภายในมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด และมีกลีบรวมกับยอดเกสรเพศเมียติดคงทน ก้านผลยาว 2-5 มม. มีขนกระจายทั่วไป เมล็ด รูปไข่หรือรูปรี ค่อนข้างกลม กว้าง 4-5 มม. ยาว 6-7 มม. เกลี้ยง พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง เบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร ออกดอกราวเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ติดผลราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม

 

ลักษณะวิสัย

 

 

ลำต้น

 

 

ลำต้น

 

 

ดอก และ ใบ

 

 

ดอก

 

 

ผล

 

 

ผล

 

 

ผล


สรรพคุณ
               ตำรายาไทย เปลือกต้น เป็นส่วนผสมปรุงยาต้มดื่ม แก้ปวดเมื่อย และแก้เส้นตึง
               ประเทศอินเดีย ส่วนเหนือดิน ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ทั้งต้น ใช้รักษาอาการปวดหลัง ใบ ต้มน้ำดื่มรักษาเบาหวาน, ชนเผ่าทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ใช้รักษาอาการไข้แกว่ง หรือไข้ขึ้นๆลงๆ


องค์ประกอบทางเคมี
              ใบพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ Quercetin-3-O-β-rutinoside


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
               ปกป้องตับจากสารพิษ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ
               สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินเมื่อให้หนูทดลองโดยฉีดเข้าทางช่องท้องที่ความเข้มข้น 250 และ 500 mg/kg มีฤทธิ์ต้านความเจ็บปวด โดยลดอาการปวดเกร็งของช่องท้องหนูทดลอง ที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมี และทำให้ทนต่อความเจ็บปวดเมื่อถูกกระตุ้นด้วยความร้อนได้
              การทดสอบสารสกัดน้ำ คลอโรฟอร์มและเอทานอล ของส่วนเหนือดิน ที่ความเข้มข้นระหว่าง 5-40 mg/mL มีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตและตายได้
               สารสกัดน้ำ และเอทานอลจากใบ ที่ระดับความเข้มข้น 200 mg/kg และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting