มะเดื่อปล้อง

ชื่อสมุนไพร

มะเดื่อปล้อง

ชื่ออื่นๆ

เดื่อป่อง (นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร) เดื่อปล้อง (นครศรีธรรมราช สระบุรี ภาคเหนือ) เดื่อสาย (เชียงใหม่) ตะเออน่า เอาแหน่ (แม่ฮ่องสอน) มะเดื่อปล้อง (ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ficus hispida L.f.

ชื่อพ้อง

Covellia assamica Miq., C. courtallensis Miq., C. daemonum (J.Koenig ex Vahl) Miq., C. dasycarpa Miq., C. hispida (L.f.) Miq., C. oppositifolia (Roxb.) Gasp., C. setulosa Miq., C. wightiana Miq., Ficus caudiculata Trimen, F. compressa S.S.Chang, F. daemonum K.D.Koenig ex Vahl, F. fecunda Blume, F. goolereea Roxb., F. heterostyla Merr., F. letaqui H.Lév. & Vaniot, F. oppositifolia Willd., F. perinteregam Pennant, F. poilanei Gagnep., F. prominens Wall. ex Miq., F. sambucixylon H.Lév., F. simphytifolia Lam., F. symphytifolia Spreng., Gonosuke demonum Raf., G. hispida (L.f.) Raf., G. scaber

ชื่อวงศ์

Moraceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 12 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือกึ่งผลัดใบ ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนา เปลือกต้นสีเทาปนดำ ต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นข้อปล้องชัดเจน คล้ายรอยขวั้นเป็นข้อๆตลอดถึงกิ่ง กิ่งอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5-13 ซม. ยาว 11-28 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบมีซี่หยักละเอียดโดยเฉพาะครึ่งปลายบน เนื้อใบคล้ากระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากปกคลุม ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ใบแก่มีขนหยาบๆและบนเส้นใบด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5-9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาว 1/5 ของใบ ก้านใบยาว 1.5-4 ซม. มีต่อมเป็นปม มีหูใบยาว 1-2.5 ซม.หลุดร่วงง่าย กิ่งก้านอ้วนสั้น ลำต้นอ่อนกลวง  ดอก ออกเป็นช่อแบบชนิดช่อมะเดื่อ (syconium) ตามกิ่งและลำต้น อาจพบออกตามโคนต้น หรือตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ กิ่งใหญ่ๆอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร บางครั้งเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพบบ้างที่เกิดตามง่ามใบ  ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญอยู่บนฐานของดอกที่ห่อหุ้มไว้มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ และมีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนสีเขียว ดอกแก่สีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร รูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภทคือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด  ดอกเพศผู้มี 1-2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอกหรือท่อสั้นๆ ผลชนิดผลแบบมะเดื่อ กลมแป้น รูปลูกข่าง ติดเป็นกลุ่มแน่น 10-15 ผล ผลอ่อนสีเขียว แบบมะเดื่อ เมื่อแก่สีเหลือง ผลมีขนาด 2.5-4 ซม. รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ยอดผลแบนหรือบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบๆจากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และเกล็ดปกคลุมห่างๆ ก้านผลยาว 0.6-2.5 ซม. มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ริมลำธาร ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม ติดผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

 

ใบ

 

ลำต้น และ ผล

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

ผล

 

ผล และ เมล็ด

 

ผล และ เมล็ด


สรรพคุณ    
              ตำรายาไทย ผล มีรสขม เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ  ฝาดสมาน แก้บิด แก้บวมอักเสบ เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล สมานแผล ขับน้ำนม แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคโลหิตจาง ริดสีดวงทวาร โรคตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล อาการปวดกระเพาะ ไข้จับสั่น ผลแห้ง รักษาแผลในปาก ทำให้อาเจียน (กินผลดิบทำให้วิงเวียนได้) ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการไข้หลังคลอดบุตร หนาวสั่น ปัสสาวะเหลืองหรือเป็นเลือด ใส่แผลฝี แผลในจมูก แผลหนองอักเสบ ราก ลำต้น เหง้า ต้มน้ำดื่ม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม แก้หวัด รากและเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ใช้ตำทาแก้ฝี แก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง กินแก้พิษในกระดูก กล่อมเสมหะ แก้ท้องเสีย แก้ประดง เปลือกต้น ผล เมล็ด มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เปลือกต้น เป็นยาทำให้อาเจียน ยาระบาย ยาพอกฝีมะม่วง ยาบำรุง แก้มาลาเรีย แก้ปวดท้องในเด็ก รักษาสิวฝ้า กระดูกแตกหัก ใช้ทำเชือกหยาบๆ ลำต้น มีรสเฝื่อนฝาด แก้เม็ดฝี และกินแก้พิษในกระดูก ช่อดอกและผลอ่อน รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มน้ำพริก และนำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม ใบอ่อน รับประทานได้ ผลสุก ทำแยม
            ตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้ ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการม้ามโต มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นเลือดหรือเหลืองจัด
            ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอใช้ ราก ลำต้น เหง้า ต้มน้ำดื่ม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม แก้หวัด เปลือกต้น ต้มกับกล้วยน้ำว้า เอาผ้าชุบน้ำพันรอบตัว แก้อาการบวมทั้งตัว

 

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง :  www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting