พรมมิ

ชื่อสมุนไพร

พรมมิ

ชื่ออื่นๆ

ผักมิ (ภาคกลาง) พรมมิ (ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Bacopa monnieri (L.) Wettst.

ชื่อพ้อง

Anisocalyx limnanthiflorus (L.) Hance, Bacopa micromonnieria (Griseb.) B.L.Rob., Bramia indica Lam., Bramia micromonnieria (Griseb.) Pennell, Bramia monnieri (L.) Drake, Bramia monnieri (L.) Pennell, Calytriplex obovata Ruiz & Pav., Capraria monnieria Roxb., Gratiola monnieri (L.) L., Gratiola portulacacea Weinm., Gratiola tetrandra Stokes, Habershamia cuneifolia (Michx.) Raf., Herpestis cuneifolia Michx., Herpestis micromonnieria

ชื่อวงศ์

Plantaginaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          พืชล้มลุกขนาดเล็ก สูง 10-40 เซนติเมตร ลำต้นเลื้อยทอดไปตามพื้นดินที่ชุ่มชื้น หรือมีน้ำขัง แตกกิ่งก้านมาก งอกรากที่ข้อใกล้พื้นดิน ลำต้นเกลี้ยง อวบน้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปช้อน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 มิลลิเมตร ยาว 6-20 มิลลิเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ไม่มีก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ กลีบดอกสีม่วงอ่อนเกือบขาวติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปกรวย เกสรเพศผู้มี 4 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ภายในมีไข่อ่อนจำนวนมาก ใบประดับ รูปดาบ ยาว 2-3 มิลลิเมตร ผลแห้งแตกได้ รูปไข่ กว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 5 มิลลิเมตร พบตามพรุน้ำร้อน หนองน้ำที่โล่ง และตามริมน้ำทั่วไป

 

                                               

                                                                                                                      ลักษณะวิสัย

                                                                                                                              

                                              

                                                                                                                      ลักษณะวิสัย

 

                                              

                                                                                                                      ลำต้น ดอก และใบ

 

                                              

                                                                                                                              ใบ

 

                                              

                                                                                                                        ดอก และใบ

 

                                                     

                                                                                                                            ดอก

สรรพคุณ:

ตำรายาไทย ต้น ขับโลหิต ขับพิษร้อนทั้งปวง บำรุงไขมันในร่างกาย บำรุงกำลังทำให้ร่างกายแข็งแรง บำรุงไขข้อ แก้ปวดตามข้อ เปลือกต้น บำรุงไขมัน บำรุงตับ ใบ ขับเสมหะ ดับพิษไข้หัว แก้พิษฝีดาษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดอก แก้โลหิตระดูใสดังสีน้ำล้างหมาก ทั้งต้น ดับพิษไข้หัว แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อนทั้งปวง แก้ไข้ ขับปัสสาวะ บำรุงประสาท ขับเสมหะ ขับพยาธิ บำรุงหัวใจ  แก้หืด แก้ปวดประสาท แก้ลมบ้าหมู รักษาริดสีดวง ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ใช้แก้ไข้สวิงสวาย แก้หืดไอ แก้ริดสีดวง ดับพิษไข้หัว ดับพิษไข้กาฬ แก้ไข้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อนทั้งปวง บำรุงกำลัง แก้เส้นเอ็นให้แข็งแรง บำรุงไขมันในร่างกาย แก้ไข้ บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ แก้ลมบ้าหมู แก้เสียงแหบแห้ง

ตำราอายุรเวทของอินเดีย ใช้เป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง

 

 องค์ประกอบทางเคมี:

องค์ประกอบหลักคือ steroidal saponins ได้แก่ bacoside A และ bacoside B

 

 การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

 ฤทธิ์ลดปวด

        การทดสอบฤทธิ์ลดปวดในสัตว์ทดลอง ของสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิ โดยใช้หนูขาวสายพันธุ์สวิสที่ถูกกระตุ้นให้มีอาการปวดด้วยการฉีดกรดอะซิติก จนเกิดอาการบิดงอลำตัว (writhing) ทดสอบโดยป้อนสารสกัด ขนาด 250 และ 500 mg/kg แก่หนูทางปาก ก่อนฉีดกรดอะซิติกเข้าทางช่องท้อง 30 นาที  วัดผลโดยนับจำนวนครั้งที่หนูเกิดการหดตัวของช่องท้องตามด้วยการยืดกล้ามเนื้อขา ภายในเวลา  15 นาที หลังฉีดกรดอะซิติก ผลการทดสอบพบว่าหลังจากได้รับสารทดสอบแล้ว 15 นาที สารสกัดเอทานอล มีฤทธิ์ลดปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 36.69% และ 59.17% ตามลำดับ (p<0.01 และ p<0.001 ตามลำดับ) โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐานไดโคลฟีแนคโซเดียม (diclofenac Na) ขนาด 25 mg/kg (ลดอาการปวดได้ 72.78%) (Hossain, et al., 2012)

ฤทธิ์แก้ท้องเสีย

      การทดสอบฤทธิ์แก้ท้องเสียในสัตว์ทดลองของสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิในหนูถีบจักรสายพันธุ์สวิส โดยกระตุ้นให้หนูท้องเสียด้วยการป้อนน้ำมันละหุ่ง  หลังจากที่ป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิ ขนาด 250 mg/kg หรือ 500 mg/kg  เป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้ว ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิขนาด 250 mg/kg และ 500 mg/kg สามารถยับยั้งการถ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เท่ากับ 35.42% และ 47.92% ตามลำดับ (p <0.001) โดยยามาตรฐานโลเพอราไมด์ (loperamide) ขนาด 50 mg/kg (ยังยั้งการถ่ายได้ 58.33 %) (Hossain, et al., 2012)

ฤทธิ์ฟื้นฟูความจำ

       การศึกษาผลของการฟื้นฟูความจำของสารบริสุทธิ์จากต้นพรมมิ ในหนูถีบจักรโดยป้อนสารทดสอบชนิดต่าง ๆ ขนาด 50 mg/kg ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดภาวะความจำเสื่อมด้วยการฉีดสาร scopolamine 1 mg/kg เข้าทางช่องท้อง พบว่าสารบริสุทธิ์กลุ่มซาโปนิน ได้แก่ bacoside XI, bacoside I และ bacosaponin C มีฤทธิ์ในการช่วยป้องกันการสูญเสียความจำได้ และในการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมอง และฟื้นฟูความจำของพรมมิในหนูขาว โดยการป้อนสารสกัดเอทานอลจากพรมมิขนาด 40 mg/kg ร่วมกับการป้อนยากันชัก phenytoin ขนาด 25 mg/kg ซึ่งการป้อน phenytoin ให้แก่หนูขาวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 14 วัน มีผลทำให้หนูสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้และความจำ แต่เมื่อป้อนสารสกัดจากพรมมิร่วมด้วย โดยป้อนให้ตลอดสัปดาห์ที่สองของการให้ยา พบว่าสามารถลดผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำของหนูเสียไปได้ นอกจากนี้เมื่อป้อนสารสกัดก่อนที่จะฉีดสาร AF64A ซึ่งเป็นสารทำลาย cholinergic neuron (เซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สร้างและหลั่งสาร Ach ที่เกี่ยวข้องกับความจำ) เข้าทางโพรงสมอง (intracerebroventricular injection, i.c.v.) ของหนู แล้วป้อนสารสกัดเอทานอลต่อไปอีก 1 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดพรมมิมีผลช่วยป้องกันการสูญเสียความจำของหนู เพิ่มระดับ cholinergic neurons และลดการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ทำลายสารสื่อประสาท Ach ในสมองส่วน hippocampus (พิชานันท์, 2555)

 

การศึกษาทางคลินิก:

ฤทธิ์เพิ่มความจำ

       การทดสอบฤทธิ์เพิ่มความจำด้วยวิธี double-blind placebo-controlled ในอาสาสมัครสุขภาพดีที่รับประทานสารสกัด 50% เอทานอล จากลำต้น ใบ และรากพรมมิ เปรียบเทียบกับยาหลอก โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่รับประทานสารสกัดพรมมิ จำนวน 33 คน เป็น ชาย 9 คน หญิง 24 คน มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 41.6 ปี และกลุ่มที่รับประทานยาหลอกจำนวน 29 คน เป็น ชาย 12 คน หญิง 17 คน มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 44.3 ปี สารสกัดพรมมิที่ใช้ในการทดสอบ กำหนดมาตรฐานสารสกัด (standardized) ให้มี bacosides A และ B รวมกันไม่น้อยกว่า 55% โดยแต่ละแคปซูลมีสารสกัดพรมมิขนาด 150 mg  ทดสอบด้วยวิธีให้อาสาสมัครได้รับสารสกัดพรมมิ วันละ 2 แคปซูล เป็นระยะเวลา 90 วัน จากนั้นจึงวัดผลหลังรับประทานยาแล้ว  ด้วยเครื่องมือ Cognitive Drug Research (CDR) computerized assessment system โดยอาสาสมัครจะได้รับการทดสอบความจำด้านต่างๆ ก่อนได้รับสารสกัด และทดสอบอีกครั้งหลังรับประทานสารสกัด  ผลการทดสอบพบว่าความจำแบบ working memory  (หรือความจำขณะทำงาน หมายถึงความจำซึ่งใช้ในการดึงข้อมูลมาใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่กำลังทำงาน เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลชั่วขณะ การจัดการกับข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้) ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดพรมมิมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.035) และการประมวลผลข้อมูลมีความผิดพลาดลดลง (Stough, et al., 2008)

      การศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำ ในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุ 55 ปี ขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานสารสกัดมาตรฐานพรมมิ (สกัดด้วยเอทานอล ที่มีสาร bacoside 55%) ขนาด 125 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัครสามารถควบคุมความคิด และจิตใจได้ดีขึ้น ความจำตรรกะ (logical memory) และการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ (paired associated learning) ดีขึ้น ในระหว่างที่รับประทานยา แสดงว่าพรมมิสามารถช่วยฟื้นฟูการสูญเสียความจำที่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้นได้ (พิชานันท์, 255)

      รายงานการศึกษาผลในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของพรมมิในเด็ก ในประเทศอินเดีย โดยทำการทดสอบเด็ก 40 คน ที่มีอายุระหว่าง 6-8 ปี ให้รับประทานพรมมิในรูปแบบไซรัป วันละ 3 ครั้ง (1 ช้อนชา ประกอบด้วยผงพรมมิ 350 มิลลิกรัม) แบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก และการศึกษาในเด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) จำนวน19 คน อายุเฉลี่ย 8.3 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดพรมมิมาตรฐาน (ประกอบด้วย bacoside 20%) ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น โดยมีความจำตรรกะ การเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ และผลการทดสอบด้านการพูด และภาษา (sentence repetition test) ดีขึ้น (พิชานันท์, 2555)

 

การศึกษาทางพิษวิทยา:

การทดสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล

      การทดสอบความเป็นพิษในหลอดทดลองต่อไรทะเลน้ำเค็ม ของสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิ โดยใช้ไรทะเลระยะ nauplii  (ไข่ที่เพาะในน้ำเกลือทะเลเป็นเวลา 48 ชั่วโมง จะให้ตัวอ่อนระยะ nauplii) นำไรทะเลเพาะเลี้ยงในน้ำเกลือทะเล ประมาณ 10 ตัว ต่อหลอดทดสอบ ให้สารสกัดสัมผัสกับไรทะเลเป็นเวลา 6 ชั่วโมง จากนั้นจึงหาค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง (LC50)  และตายร้อยละ 90 (LC90)  ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากใบของพรมมิ มีความเป็นพิษต่อไรทะเล โดยมีค่า  LC50 และ LC90  เท่ากับ 40 μg/mL และ 150 μg/mLตามลำดับ (Hossain, et al., 2012)

 

เอกสารอ้างอิง:

1. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(3):16-19.

2. พิชานันท์ ลีแก้ว. บทความวิชาการ “พรมมิ สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม”. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2555;29(4):9-13.

3. Hossain H, Howlader SI, Dey SK, Hira A, Ahmed A. Evaluation of analgesic, antidiarrhoeal and cytotoxic activities of ethanolic extract of Bacopa monnieri (L). British Journal of Pharmaceutical Research. 2012;2(3):188-196. 

4. Stough C, Downey LA, Lloyd J, Silber B, Redman S, Hutchison C, et al. Examining the nootropic effects of a special extract of Bacopa monniera on human cognitive functioning: 90 day double-blind placebo-controlled randomized trial. Phytother Res 2008; 22(12): 1629-1634.

 

 

 

 


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting