สลัดไดป่า

ชื่อสมุนไพร

สลัดไดป่า

ชื่ออื่นๆ

เคียะผา เคียะเลี่ยม หงอนงู กะลำพัก กระลำพัก พญาครุฑ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Euphorbia antiquorum L.

ชื่อพ้อง

Euphorbia mayuranathanii Croizat, Tithymalus antiquorus

ชื่อวงศ์

Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

          ไม้ยืนต้น สูง 3 - 6 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตรลำต้นแก่มักตั้งตรง และมีเปลือกสีน้ำตาล ต้นที่ยังไม่แก่มักมีผิวเรียบ สีเขียว ลำต้นทรงกระบอก แตกกิ่งก้านมาก กิ่งก้านมี 3 มุม เป็นรูปสามเหลี่ยม อวบน้ำ บริเวณสันขอบเป็นหยักมีหนามสีดำออกเป็นคู่ตามร่องหยัก ทุกส่วนมีน้ำยางขาว  ใบ เป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็กมาก กว้าง 0.1 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายใบและโคนใบมน แผ่นใบเรียบ อวบน้ำ ไม่มีก้านใบ โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบกลม ผิวเกลี้ยง ร่วงง่าย ดอก เป็นดอกช่อรูปถ้วย ออกเป็นกลุ่มที่ซอกใบ หรือตามแนวสันเหนือหนาม กลุ่มละ 3 ช่อ มีต่อมสีเหลืองอ่อน 5 ต่อม เรียงเป็นวง ๆ รอบปากถ้วย ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมีย มีรังไข่รูปทรงกลมมี 3 พู มีใบประดับสีเหลือง 5 ใบ ผล มีลักษณะเป็นผลแห้งแตกได้ มี 3 พู สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดทรงรูปไข่แกมทรงกลม ผิวเกลี้ยง สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนพบในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร

 

                                                            

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                  ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                   ลักษณะวิสัย

 

                                                            

                                                                                                                                   ลำต้น และดอก

 

                                                             

                                                                                                                                   ลำต้น และดอก

 

                                                            

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                             

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                             

                                                                                                                                   ดอก

 

                                                            

                                                                                                                                 น้ำยาง

 

                                                            

                                                                                                                                  ผล

 

                                                            

                                                                                                                                  ผล

 

องค์ประกอบทางเคมี:

          น้ำยางพบสารเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ eupha-7, 9(11), 24-trien-3beta-ol (antiquol C), 19(10-->9) abeo-8alpha, 9beta,10alpha-eupha-5,24-dien-3beta-ol (antiquolB), 24-methyltirucalla-8,24(24(1))-dien-3beta-ol (euphorbol), lemmaphylla-7,21-dien-3beta-ol, isohelianol, camelliol C (Prashant, et al., 2015)

 

สรรพคุณ:

          ตำรายาไทย "กระลำพัก" เป็นชื่อเรียกเครื่องยาที่ได้จากแก่นของต้นสลัดไดแก่ที่ยืนต้นตาย ทำให้แก่นเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง รสขมกลิ่นหอม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และปอด แก้พิษเสมหะ โลหิต แก้ธาตุพิการ และเป็นตัวยาที่สำคัญในยาพื้นของการตั้งตำรับยาหอม ต้น รสเมาเบื่อเอียน ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในท้อง น้ำยาง รสร้อนเมาเบื่อ ทาฆ่าพยาธิโรคผิวหนังต่าง ๆ ทากัดหูด ต้องนำมาฆ่าฤทธิ์เสียก่อน ใช้ปรุงยา ถ่ายอุจจาระ ถ่ายพิษเสมหะ และโลหิต ถ่ายหัวริดสีดวงลำไส้ และริดสีดวงทวารหนัก ขับโลหิตเน่าร้าย เป็นยาถ่ายอย่างแรง เมื่อถูกผิวหนังทำให้ระคายเคือง

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย

          สารสกัดจากส่วนเหนือดิน มีรายงานว่าช่วยป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธี reducing power, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ hydroxyl และอนุมูลอิสระ superoxide anion พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทั้งสามวิธีทดสอบ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ความเข้มข้น 20 ,40 ,60 ,80 และ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ การศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าขนาดสารสกัดที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ตับถูกทำลายได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 125 และ 250 mg/kg โดยสามารถลดระดับเอนไซม์ในซีรั่ม, bilirubin, cholesterol, triglycerides และปฏิกิริยาการออกซิเดชันของไขมัน ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระกลูตาไธโอนในเนื้อเยื่อ โดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ใช้ทดสอบ ฤทธิ์ป้องกันเซลล์ตับและต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดมีความสามารถเทียบเท่ากับสารมาตรฐาน silymarin และ sodium metabisulphite ตามลำดับ จากการศึกษานี้ยืนยันผลของการใช้ตามสรรพคุณแผนโบราณที่นำยาต้มของสลัดไดป่ามาใช้รักษาโรคดีซ่าน แต่ควรมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ต่อไป (Prashant, et al., 2015)

ฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านการอักเสบของข้อ

          สารสกัดจากสลัดไดป่าด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ มีรายงานว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านการอักเสบของข้อ โดยพบว่าสลัดไดป่ามีสารกลุ่ม triterpenoids ในลำต้น และมี diterpenoids ในน้ำยาง มีรายงานว่า triterpenenoids หลายชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยฤทธิ์ต้านการอักเสบของ triterpenenoid มีหลายกลไก รวมทั้งการยับยั้งการทำงานของ lipoxygenase และ cyclooxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในขวนการเกิดการอักเสบ (Prashant, et al., 2015)

ฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง

         การทดสอบในหลอดทดลองพบว่า น้ำยางจากต้น เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากน้ำยางไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และเมื่อให้ในขนาดมาตรฐานร่วมกับยาเคมีบำบัด etoposide ในเซลล์ไฟโบรบลาสของตัวอ่อนของลูกไก่ พบว่าสามารถลดความเป็นพิษของยาเคมีบำบัดลงได้ จึงอาจนำมาพัฒนาเพื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดขบวนการ apoptosis (ขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย) โดยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งปากมดลูก (human cervical adenocarcinoma HeLa cells) ในหลอดทดลองได้ โดยการกำจัดผ่านขบวนการ apoptosis (Prashant, et al., 2015)

ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

          เมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากต้นสลัดไดแก่สัตว์ทดลอง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 30.11% (ยามาตรฐาน glibenclamide ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เท่ากับ 23.36%) สารสกัดเอทานอล และยามาตรฐาน glibenclamide แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่เวลา 8 ชั่วโมง หลังการได้รับสารทดสอบ โดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 69.22 และ 83.32% ตามลำดับ  สารสกัด petroleum ether และสารสกัดน้ำ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ชั่วโมงที่ 4 หลังได้รับสารสกัด โดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 33.29% และ 28.29% ตามลำดับ แต่หลังจากชั่วโมงที่ 4 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Prashant, et al., 2015)

 

อกสารอ้างอิง:

Prashant Y, Kritika S, Anurag M. A Review on phytochemical, medicinal and pharmacological profile of Euphorbia antiquorum. IJPPR. 2015;4(1):56-67.


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting