เปล้าน้อย

ชื่อสมุนไพร

เปล้าน้อย

ชื่ออื่นๆ

เปล้าท่าโพ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Croton fluviatilis Esser

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ชอบขึ้นในธารน้ำไหลผ่าน สูงได้ถึง 5  เมตร บริเวณปลายยอดมีขนสั้นนุ่มชัดเจน บริเวณอื่นๆ มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงเกือบเกลี้ยง พบขนจำนวนมาก 30-40 อัน สีน้ำตาลอ่อนรวมตัวกัน จนเกือบเชื่อมติดกัน เป็นขนรูปดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2-0.3(-0.5) มิลลิเมตร หูใบยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ใบเรียงแบบสลับ เมื่อใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ก้านใบยาว 1-3.5 มิลลิเมตร  มีขนสั้นนุ่มประปราย แผ่นใบตรงแคบยาว กว้าง 1.5 -2.44 เซนติเมตร ยาว 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ฐานใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยเป็นระยะ ขนาด 5-7 มิลลิเมตร ถึงเกือบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกระจายบนเส้นกลางใบเล็กน้อย หรือเกือบเกลี้ยง ไม่มีนวล มีต่อมที่ฐานของก้านใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.0 มิลลิเมตร เส้นใบข้าง 11-16 คู่  ดอกช่อ เกิดช่อเดี่ยว ที่ปลายยอด ขนาดยาว 7-19 เซนติเมตร แกนช่อเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเพศเมีย จำนวน 4-11 ดอก อาจมีหรือไม่มีดอกเพศผู้ ใบประดับของดอกเพศผู้รูปไข่ ขนาดยาว 2-3.5 มิลลิเมตร กว้าง 1.5-2 มิลลิเมตร บางคล้ายเยื่อ ดอกเพศผู้จำนวน 1-3-4 ดอกในหนึ่งใบประดับ ก้านดอกย่อยยาว 4-5 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม ด้านนอกเกลี้ยง แต่พบขนครุยที่ปลายชัดเจน กลีบดอกลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยงแต่แคบกว่า ขนาดกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 10-12 อัน ก้านชูยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 0.6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย ก้านดอกย่อยเกือบเกลี้ยง ขนาดยาว 2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม เกลี้ยง มองไม่เห็นกลีบดอก รังไข่ยาว 1.5 มิลลิเมตร ขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูเป็นอิสระ ขนาดยาว 3-5 มิลลิเมตร  แบ่งเป็น 2 แฉก ผลแบบแคปซูล ขนาดกว้าง 8 มิลลิเมตร ยาว 5-7 มิลลิเมตร มีก้านผลยาว 4-8 มิลลิเมตร ผลมีร่องตามยาว แบ่งผลเป็นพู ผิวมีขนกระจาย หรือเกือบเกลี้ยง เมล็ดขนาดกว้าง 3-3.5 มิลลิเมตร ยาว 4-4.5 มิลลิเมตร พบในป่าดิบแล้ง ขึ้นตามริมลำธาร บริเวณดินทรายที่อยู่บนหินทราย ที่ระดับความสูง 100-250 เมตร ในประเทศไทยพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบ จ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ติดผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม
          

ลักษณะวิสัย

 

ลักษณะวิสัย (ขึ้นริมลำธาร)

 

ลำต้น

 

ใบ

 

ใบ

 

ดอก

 

ผล

 

ผล

 

สรรพคุณ    
              ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่มตอนอุ่น แก้โรคกระเพาะอาหาร
              ตำรายาไทย  ใช้  ใบ รสร้อน แก้คันตามตัว รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี ผล รสร้อน ต้มน้ำดื่ม ขับหนองให้กระจาย ดอก เป็นยาขับพยาธิ เปลือกต้น รสร้อน ช่วยย่อยอาหาร เปลือกและใบ รักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน รักษาโรคผิวหนัง ราก รสร้อน แก้ลมขึ้นเบื้องบนให้เป็นปกติ แก่น รสร้อน ขับโลหิต แก้ช้ำใน            

 

ข้อมูลเครื่องยา : www.thaicrudedrug.com

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง : www.thaiherbarium.com


Copyright © 2010 phargarden.com All rights reserved.

Appsthailand Hosting